เกมในรายการ ของ ชิงร้อยชิงล้าน ชะช่ะช่า

ในส่วนของเกมการแข่งขันในรายการชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า นั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 ยุคด้วยกัน คือ ยุคแรกเริ่ม (ตั้งแต่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2541 - 20 มกราคม พ.ศ. 2542), ยุคกลาง (27 มกราคม พ.ศ. 2542 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2551) และยุคสุดท้าย (5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554) ดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ อย่างไรก็ดี เกมในยุค ชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก นั้น ยังมีลักษณะมาจากชิงร้อยชิงล้าน ชะชะช่า ในยุคกลาง แต่ภายหลังได้มีการดัดแปลงไปตามสมควร

ยุคแรก : 4 มีนาคม พ.ศ. 2541 - 20 มกราคม พ.ศ. 2542

ทายดาราปริศนา

ในเกมนี้เป็นการทายดารารับเชิญ ซึ่งยังคงรูปแบบเดียวกับรายการ ชิงร้อยชิงล้าน ซูเปอร์เกม โดยเกมทายดารา จะแบ่งออกเป็น 3 รอบ ดังนี้

รอบที่ 1 ยังจำได้ไหม จะเป็นการทายภาพดาราปริศนาของดารารับเชิญโดยในภาพนี้จะเป็นการปกปิดใบหน้าบางส่วนของดารารับเชิญ

รอบที่ 2 เสียงของใคร จะเป็นการทายเสียงและเงาของดารารับเชิญ ซึ่งเกมนี้มีพัฒนามาจากเกมทายภาพดาราปริศนา (ยังจำได้ไหม) เป็น 3 ภาพ 3 ช่วงเวลา

รอบที่ 3 ขอสักครั้ง จะเป็นการทายดารารับเชิญจากภาพวีทีอาร์ โดยที่ผู้เข้าแข่งขันนั้นไม่สามารถเห็นหน้าของดารารับเชิญชัด ๆ ได้ ดารารับเชิญนั้นจะทำแบบไม่เห็นหน้าหรือบังหน้าเอาไว้ด้วย เห็นได้แต่ด้านหลังดารารับเชิญเท่านั้น

ทั้งนี้ ทีมผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ทีม มีโอกาสเขียนในกระดานคำตอบได้ 3 ครั้งเท่านั้น หลังจากนั้น จะเฉลยว่าดารารับเชิญคนนี้คือใคร โดยการเชิญดารารับเชิญปริศนาในรอบนั้น ๆ ออกมาเปิดตัวด้วยการร้องเพลง เพื่อเป็นการเฉลยคำตอบ โดยที่ ถ้าผู้เข้าแข่งขันทีมไหน ตอบถูกในแต่ละรอบ ก็จะได้คะแนนไปด้วย โดยการทายชื่อ จะได้รอบละ 5 คะแนน ถือว่าในรอบนี้มีคะแนนเต็มถึง 15 คะแนน หลังจากที่มีการเฉลยคำตอบแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกับดารารับเชิญเกี่ยวกับความเป็นมาและเรื่องราวต่างหลังจากนั้น ยังมีแก๊งสามช่ามาสร้างสีสันเสียงหัวเราะให้ท่านผู้ชมได้รับความสนุกสนานกันอีกด้วย โดยดาราปริศนาที่มารายการเป็นท่านแรก คือ พล ตัณฑเสถียร

จริงหรือไม่ (แก๊งสามช่า)

เกมนี้ เป็นเกมจริงหรือไม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง โดยจะมี ผู้กล้า ซึ่งอาจเป็นบุคคลจากทางบ้าน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงในด้านต่างๆ มาแสดงโชว์สาธิตให้ดูในรายการ จากนั้น จะมีการท้าแก๊งสามช่าว่า แก๊งสามช่าสามารถโชว์แสดงอย่างที่ผู้กล้ามาโชว์สาธิตในรายการได้จริงหรือไม่ ทั้งนี้ จะให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 2 ทีมเป็นผู้ตอบ หลังจากนั้น แก๊งสามช่าจะทำการสาธิตโชว์แบบเดียวกันกับผู้กล้า เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าทำได้แบบผู้กล้าหรือไม่ ถ้าทำได้แสดงว่าจริง แต่ถ้าทำไม่ได้แสดงว่าไม่จริง (ในช่วงแรกแก๊งสามช่าจะเฉลยก่อน แล้วค่อยลองทำ ต่อมาให้แก๊งสามช่าทำแบบเดียวกับผู้กล้า) ทั้งนี้ ทีมผู้เข้าแข่งขันทีมใดที่ทายคำตอบถูกต้อง จะได้รับ 10 คะแนนไปในรอบนี้

ผู้กล้าที่มาท้าแก๊งสามช่าเป็นคนแรกคือ Mr. Direk Ruth นักมายากลชาวอังกฤษ ท้าแก๊งสามช่าเล่นกล่องล่องหน

จริงหรือไม่ (ผู้เข้าแข่งขัน)

เกมนี้ เป็นเกมจริงหรือไม่ในรูปแบบปกติที่รู้จักกันดี โดยนำเอาประสบการณ์ชีวิตในแง่มุมต่าง ๆ ของดาราที่เป็นผู้เข้าแข่งขันในเกม ไม่ว่าจะเป็น ความชอบ งานอดิเรก ของสะสมส่วนตัว หรือแม้กระทั่งประสบการณ์ลี้ลับ และเฉียดความตาย มาใช้เป็นคำถามในรอบนี้ ในยุคชะช่ะช่านี้จะมีการเปรยโดยผู้เข้าแข่งขันแต่ละทีมในช่วงเบรกแรกว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไร โดยในการแข่งขัน ทีมที่จะเป็นผู้ตอบคำถาม คือทีมฝ่ายตรงข้ามอีกทีมที่ไม่ใช่เจ้าของเรื่อง ซึ่งทีมที่ตอบจะต้องทายว่าคำถามในข้อนั้นเป็นเรื่องจริง หรือไม่จริง หลังจากที่ตอบแล้ว ทีมเจ้าของเรื่องนั้นจะเป็นผู้เฉลยว่าคำถามนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ทีมเจ้าของเรื่องนั้นจะเป็นผู้เฉลยว่าคำถามนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ถ้าทีมฝ่ายตรงข้ามตอบถูกก็จะได้ 10 คะแนน แต่ถ้าตอบผิดจะไม่ได้คะแนน

ทั้งนี้ คำถามในเกมจริงหรือไม่ในยุคนี้จะถูกลดเหลือ 2 ข้อ จากเดิม 3 ข้อ ซึ่งแต่ละทีมจะมีโอกาสตอบเพียงแค่คำถามของทีมตรงข้ามเท่านั้น และให้ทายว่าเรื่องคนนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยในแต่ละข้อ หลังจากที่มีการเฉลยคำตอบแล้ว ก็จะมีการพูดคุยกับดาราเจ้าของเรื่องเกี่ยวกับเรื่องที่ตั้งเป็นคำถามนั้น ๆ บางครั้งอาจมีการสาธิตโชว์เรื่องนั้นให้ดูในรายการ หากเป็นเรื่องความสามารถ หรือมีการนำของสะสมต่าง ๆ มากมายที่เป็นของดารามาแสดงในรายการ ในกรณีที่คำถามเกี่ยวข้องกับของสะสมของดารา ทั้งนี้ การพูดคุยกับดารา ยังมี หม่ำ จ๊กมก, เท่ง เถิดเทิง และ หนู เชิญยิ้ม (ภายหลังเปลี่ยนเป็น โหน่ง ชะชะช่า มาแทน) มาสร้างสีสันเสียงหัวเราะให้ท่านผู้ชมได้รับความสนุกสนานกันอีกด้วย โดยการล้อเลียนดารารับเชิญที่เป็นเจ้าของเรื่องในช่วงนั้น ๆ

ยุคกลาง : 27 มกราคม พ.ศ. 2542 - 26 มีนาคม พ.ศ. 2551

ทำได้หรือไม่ได้

เกมนี้ มีลักษณะคล้ายคลึงกับจริงหรือไม่ในรูปแบบก่อนหน้านี้ ทว่ามีลักษณะเป็นเกมการแข่งขันมากขึ้น ต่างจากเดิมที่เป็นเพียงการแสดงตามแบบแผนเดียวกันกับผู้กล้า ทั้งนี้ จะมีเกมการแข่งขันเกมหนึ่ง ซึ่งถูกกำหนดกติกาแตกต่างกันออกไปในแต่ละสัปดาห์ (ขึ้นอยู่กับว่าผู้กล้าในสัปดาห์นั้น จะทำการแข่งขันเกี่ยวกับเรื่องใด) โดยผู้กล้าในสัปดาห์นั้นจะเป็นผู้แข่งขันเกมดังกล่าวก่อนเป็นลำดับแรก หลังจากนั้น แก๊งสามช่าจะต้องเล่นเกมในรูปแบบเดียวกันข้างต้น แต่จะมีการต่อรองเกิดขึ้น เพื่อให้แก๊งสามช่ามีโอกาสในการเล่นเกมสำเร็จเพิ่มมากขึ้น (เช่น การต่อเวลา, ต่อจำนวนคนที่แข่งขัน, ต่อผลของการเล่นเกม เช่น เกมเตะฟุตบอล จากเดิมต้องเตะ 5 ลูก อาจเหลือแค่ 3 ลูกเป็นต้น) ทั้งนี้ แก๊งสามช่าจะมีโอกาสเล่นเกมดังกล่าวได้ทั้งหมด 2 ครั้ง ซึ่งแต่เดิม ผู้เข้าแข่งขันจะเป็นหม่ำ และเท่ง โดยทั้งสองคนจะแข่งขันกันคนละ 1 รอบ จนอาจกล่าวได้ว่าเป็นรอบของหม่ำ และรอบของเท่ง แต่ภายหลังเกมทั้ง 2 รอบ ไม่จำเป็นจะต้องแข่งโดยหม่ำ และเท่งเท่านั้น เพราะบางเกมอาจต้องใช้ผู้เข้าแข่งขันเป็นคู่ หรือแก๊งสามช่าทุกคนเลยก็ได้

เกมทำได้หรือไม่ได้นี้ ผู้เข้าแข่งขันที่มาร่วมรายการจะต้องทายว่าแก๊งสามช่าจะทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากแก๊งสามช่าเล่นเกมดังกล่าวสำเร็จเพียงครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นการเล่นในรอบแรก หรือรอบที่สอง จะถือว่าแก๊งสามช่าทำได้โดยทันที แต่ในทางตรงกันข้าม หากแก๊งสามช่าเล่นเกมไม่สำเร็จทั้งสองรอบ จะถือว่าทำไม่ได้นั่นเอง ซึ่งตรงนี้ หากผู้เข้าแข่งขันคนใดทายถูกต้องก็จะได้ 1 คะแนนไปในรอบนี้ โดยเกมแรกของรอบทำได้หรือไม่ได้คือ การแข่งขันการสลับขวดเป๊ปซี่ระหว่างขวดเปล่ากับขวดบรรจุน้ำอัดลมที่อยู่ในลังพลาสติก

เกมทำได้หรือไม่ได้ ถูกใช้มาโดยตลอดเกือบ 10 ปี แม้ว่าชิงร้อยชิงล้านจะอยู่ในช่วงของทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊กก็ตาม ก็ยังคงมีเกมนี้อยู่เช่นเดิม จนกระทั่งชิงร้อยชิงล้านเริ่มมีรูปแบบของเกม ใครทำได้ เกิดขึ้น เกมทำได้หรือไม่ได้จึงค่อย ๆ เริ่มหายไป จนกระทั่งในเดือนเมษายน พ.ศ. 2552 เกมนี้จึงถูกยกเลิกไปโดยสมบูรณ์ (สำหรับเกมใครทำได้ดูที่ เกมในรายการยุคสุดท้าย)

เกมทำได้หรือไม่ได้ในยุคแรก ยังไม่มีผู้สนับสนุน เริ่มมีผู้สนับสนุนตั้งแต่ 9 มกราคม พ.ศ. 2545 (ผู้สนับสนุนในรอบนี้คือ ลีโอเบียร์ (ครั้งที่ 1) ตั้งแต่ 9 มกราคม จนถึง 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 ต่อมาเป็นไทเบียร์ตั้งแต่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2545 จนถึง 11 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ลีโอเบียร์ (ครั้งที่ 2) ตั้งแต่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ถึง พ.ศ. 2549 และไม่มีผู้สนับสนุนไปพักหนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2549 และกลับมามีผู้สนับสนุนอีกครั้งคือ โซดาสิงห์ ตั้งแต่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550 และตั้งแต่ พ.ศ. 2551 ลีโอเบียร์ (ครั้งที่ 3) กลับมาเป็นผู้สนับสนุนในรอบเกมอีกจนถึง พ.ศ. 2553

ทายดาราสามช่ารับเชิญ

ในเกมนี้ผู้เข้าแข่งขันต้องทายภาพวาดของหมอ - ทิววัฒน์ ภัทรกุลวณิชย์ ทันตแพทย์ และนักวาดภาพการ์ตูนล้อเลียน ซึ่งจะมาวาดภาพล้อเลียนของดาราที่จะมาเป็นสามช่ารับเชิญประจำสัปดาห์นั้น ๆ โดยในเกมนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องทายว่าภาพที่หมอทวีวัฒน์ได้วาดนี้ เป็นภาพของใคร โดยหมอทวีวัฒน์จะไม่วาดภาพทั้งหมดในคราวเดียว แต่เมื่อวาดไปได้ส่วนหนึ่ง พิธีกรจะให้ผู้เข้าแข่งขันแย่งกันกดไฟ(ช่วงแรกปุ่มมีสี่ปุ่มจะอยู่บนแท่นของผู้เข้าแข่งขันคล้ายกับรายการเกมแก้จน ต่อมาจะเป็นแท่นสองปุ่มใช้ค้อนทุบ)ตอบคำถามก่อน ถ้าใครกดไฟติด คนนั้นจะได้สิทธิ์ในการตอบคำถาม หลังจากนั้นพิธีกรจะเฉลยคำตอบ โดยการให้คนนั้น ๆ ปรากฏตัวออกมาร้องเพลง ถ้าคนนั้นๆ ปรากฏตัวออกมาร้องเพลงแล้ว เป็นดารารับเชิญที่ผู้เข้าแข่งขันตอบไป นั่นหมายความว่าผู้เข้าแข่งขันคนนั้นตอบถูก และจะได้คะแนนไป แต่ถ้าคนนั้น ๆ ปรากฏตัวออกมาแล้วไม่ใช่ดารารับเชิญที่ผู้เข้าแข่งขันตอบไป แก๊งสามช่าคนใดคนหนึ่งซึ่งอาจจะเป็น หม่ำ,เท่ง หรือโหน่ง ก็จะออกมาร้องเพลง ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าแข่งขันนั้นตอบผิด จะไม่ได้คะแนนไป ทั้งนี้ ถ้าตอบผิด หมอทิววัฒน์จะทำการวาดภาพต่อและเกมจะเป็นเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าผู้เข้าแข่งขันคนใดคนหนึ่งจะทายภาพสามช่ารับเชิญคนดังกล่าวได้ถูกต้อง ซึ่งเกมทายดาราสามช่ารับเชิญนี้ จะมีทั้งหมด 3 คน (หรือ 3 ข้อ) นั่นเอง ทั้งนี้หากผู้เข้าแข่งขันคนไหนสามารถตอบคำถามจากภาพปริศนาได้ครบ 3 ข้อ จะได้รับเงินรางวัล 100,000 บาทจากผู้สนับสนุนด้วย (ผู้สนับสนุนในการแจกรางวัลพิเศษคือ วีคเอนท์ทัวร์ (พ.ศ. 2542) รางวัลพิเศษคือ ตั๋วเครื่องบินไปเที่ยวนครเซี่ยงไฮ้ ไปโรงภาพยนตร์ และชมศาลซือกง ต่อมาเปลี่ยนเป็น ลีโอเบียร์ ซึ่งมอบรางวัลพิเศษ คือ เงิน 100,000 บาท (ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 ถึงประมาณปี พ.ศ. 2544)) ซึ่งต่อมาได้ยกเลิกการแจก 100,000 บาทไป โดยสามช่ารับเชิญ 3 ท่านแรก ที่มารายการคือ แดนนี่ ศรีภิญโญ รัญญา ศิยานนท์ และ สินิทรา บุญยศักดิ์

เกมนี้ เป็นที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า "เขาเป็นใครหนอ" ซึ่งมาจากการที่แดนเซอร์ของรายการจะร้องเพลงประกอบกับการที่หมอทิววัฒน์กำลังวาดภาพอยู่ แต่ในระยะหลัง ๆ หมอทิววัฒน์จะไม่เริ่มวาดภาพในรายการโดยทันที แต่จะวาดไว้ส่วนหนึ่งก่อนเริ่มรายการ โดยจะให้ผู้เข้าแข่งขันทายภาพที่หมอวาดไว้ก่อนแล้วก่อน ถ้าหากไม่มีใครทายถูก หมอจึงจะเริ่มวาดในส่วนที่เหลือต่อไป (เกมนี้เริ่มใช้ตั้งแต่ 27 มกราคม พ.ศ. 2542 - 17 ตุลาคม พ.ศ. 2544)

มีข้อสังเกตประการหนึ่งในเกมนี้คือ หากผู้เข้าแข่งขันทายสามช่ารับเชิญถูกต้อง เมื่อสามช่ารับเชิญคนดังกล่าวออกมา ประตูใหญ่และประตูเล็กของฉากจะถูกเปิดออกทั้งหมด แต่ถ้าหากทายผิด และเป็นแก๊งสามช่าที่ออกมา ประตูเล็กจะถูกเปิดเพียงประตูเดียว ยกเว้นในช่วงแรกๆ ถ้าทายผิด ประตูเล็กจะถูกเปิดเพียงประตูเดียว และมีดรายไอซ์พ่นออกมาด้วย

ใครกันหนอ

ในเกมนี้ พิธีกรจะบอกเล่าเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของสามช่ารับเชิญคนใดคนหนึ่งให้ผู้ชม และผู้เข้าแข่งขันได้ทราบก่อน จากนั้นจะถามว่าเรื่องที่ได้เล่ามาทั้งหมดนี้ สามช่ารับเชิญคนใดเป็นเจ้าของเรื่อง โดยให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนคำตอบลงในกระดานคำตอบว่าใครเป็นเจ้าของเรื่อง จากนั้นพิธีกรจะเฉลยคำตอบโดยให้สามช่ารับเชิญทั้งสามคนนั้นออกมายืนด้านหน้าโพเดียม แล้วใครที่เป็นเจ้าของเรื่องให้ลงมาจากโดมแก๊งสามช่า (โพเดียมสามช่ารับเชิญจะอยู่ภายใต้โดมแก๊งสามช่า) ทั้งนี้ หากสามช่ารับเชิญใครคนใดคนหนึ่งลงมาจากโดมแก๊งสามช่า เขาผู้นั้นคือเจ้าของเรื่องดังกล่าว และถือเป็นคำตอบที่ถูกต้องนั่นเอง สำหรับผู้เข้าแข่งขันคนใดก็ตามที่ตอบถูกจะได้คะแนนไปในรอบนี้ คำถามละ 1 คะแนน หลังจากนั้น สามช่ารับเชิญที่เป็นเจ้าของเรื่องจะได้มาเล่าเรื่องที่เป็นประสบการณ์ชีวิตของตนเองว่าเป็นอย่างไรบ้าง เมื่อเล่าจบ พิธีกรจะเชิญแก๊งสามช่าออกมาสร้างสีสัน โดยการแสดงโชว์ตลกเพื่อความสนุกสนานนั่นเอง

โดยในยุคแรกของเกมนี้จะถามคำถามทั้งหมด 3 ข้อ ก่อนที่จะลดเหลือเพียงแค่ 2 ข้อ ในปี พ.ศ. 2544 เมื่อมีการยกเลิกเกมจริงหรือไม่ (แต่เป็นการถามช่วงละข้อ จากเดิมเป็นการถามทั้งสามข้อในช่วงเดียว) นอกจากนี้ในช่วงแรกมีกติกาพิเศษคือ หากสามช่ารับเชิญทั้ง 3 คน สามารถทำให้ผู้แข่งขันทั้ง 3 คน ตอบผิดทั้งหมดก็จะมีเงินรางวัลพิเศษให้ในรอบนี้ 60,000 บาท [1]

และเมื่อมีการยกเลิกเกมทายดาราสามช่ารับเชิญไป ในวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2544 สามช่ารับเชิญจะมาจากการเปิดตัวโดยพิธีกรซึ่งเป็นผู้แนะนำ โดยการเปิดตัวจะมีรูปแบบเดียวกันกับในเกมทายดาราสามช่ารับเชิญ คือการออกมาร้องเพลงนั่นเอง และโดยเฉพาะในข้อที่ 2 ของเกม (ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2544 จนถึงปี พ.ศ. 2552)ได้มีการปรับเปลี่ยนมาเป็นเรื่องราวประสบการณ์เกี่ยวกับผี และวิญญาณของดาราเจ้าของเรื่อง ซึ่งรูปแบบเกมจะเป็นเช่นเดียวกันกับข้อแรก โดยเจ้าของเรื่องก็จะเป็นผู้มาเล่าประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเกี่ยวกับผีและวิญญาณว่าเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากนั้นจะมีแก๊งสามช่า (หม่ำ,เท่ง และ โหน่ง) ออกมาด้วยเพื่อสร้างความตกใจให้กับในห้องส่งและผู้ชมทางบ้าน ต่อมา นับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2548 จนถึง พ.ศ. 2552 นั้น หม่ำ,เท่ง และ โหน่ง จะวิเคราะห์เรื่องประสบการณ์น่ากลัวของดาราเจ้าของเรื่องว่าน่ากลัวขนาดไหนพร้อมกับบอกด้วยว่าจะให้รางวัลกี่กะโหลกแก่ดาราเจ้าของเรื่องนั้น ซึ่งรางวัลจะเป็นถ้วยรูปหัวกะโหลกเล็กๆแต่ต่างจำนวนกัน โดยขึ้นอยู่กับความน่ากลัวของเนื้อหา เช่น ความน่ากลัวอยู่ในระดับปานกลางจะให้ 3 กะโหลก ความน่ากลัวอยู่ในระดับเสียวสันหลังจะได้ 4 กะโหลก และความน่ากลัวระดับขวัญผวาจะได้ 5 กะโหลก ซึ่งถ้วย 5 กะโหลกถือเป็นคะแนนสูงสุด แต่ส่วนใหญ่ หม่ำ,เท่ง และ โหน่ง จะให้รางวัลแค่ 4 กะโหลก แต่ในบางครั้ง แก๊งสามช่า มอบหลอดไฟซิลวาเนียเป็นของขวัญ เพื่อสำหรับคนกลัวผีอีกด้วย ซึ่งในรอบนี้ถ้าตอบถูกก็จะได้รับข้อละ 1 คะแนน

เกมใครกันหนอนี้เริ่มมาตั้งแต่ช่วงประมาณปี พ.ศ. 2544 และยังคงใช้มาจนถึงปัจจุบัน แม้จะอยู่ในช่วงของชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊กก็ตาม จนถึงสิ้นปี พ.ศ. 2552

จริงหรือไม่ (สามช่ารับเชิญ) (พ.ศ. 2542 - พ.ศ. 2544)

สำหรับในเกมนี้ยังคงกติกาเหมือนกับเกมจริงหรือไม่ในรูปแบบที่ผ่านมาทุกประการ แต่เปลี่ยนเป็นการทายเรื่องราวของสามช่ารับเชิญ และปรับลดลงมาเหลือเพียงข้อเดียว ถ้าผู้เข้าแข่งขันตอบถูกจะได้คะแนนในรอบนี้ไป 3 คะแนน และได้เพิ่มกติกาพิเศษนั่นคือ หากสามช่ารับเชิญทั้ง 3 คน สามารถทำให้ผู้แข่งขันทั้ง 3 คน ตอบผิดทั้งหมดก็จะได้เงินรางวัลพิเศษในรอบนี้ 30,000 บาท [1]

สำหรับเกมนี้ใช้ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2542 จนถึงประมาณปี พ.ศ. 2544

5 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 - 27 ธันวาคม พ.ศ. 2554

จับคู่แก๊งสามช่า

เกมนี้ เป็นเกมที่มาจากพัฒนาจากเกมใครทำได้ จากยุคชิงร้อยชิงล้าน ทเวนตี้ เซ็นจูรี่ ตั๊ก คือ ผู้เข้าแข่งขันจะได้มาร่วมแข่งขันกับแก๊งสามช่าด้วย จากเดิมที่เป็นเพียงผู้ทายเท่านั้น โดยผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกแก๊งสามช่าคนใดคนหนึ่ง จากนั้นก็จะมาร่วมเล่นเกมพร้อมๆกันกับแก๊งสามช่า โดยทีมของใครที่สามารถทำสถิติคะแนนจากการแข่งขันได้มากที่สุด หรือมีผลการแข่งขันดีที่สุด ผู้เข้าแข่งขันในทีมนั้นจะได้คะแนนไป แต่หากมีทีมมากกว่าหนึ่งทีมที่มีผลการแข่งขันดีที่สุด ผู้เข้าแข่งขันที่อยู่ในทีมดังกล่าวทั้งสองทีม หรือสามทีมจะได้รับคะแนนไป ดังนั้น ผู้เข้าแข่งขันจะได้คะแนนหรือไม่ต้องขึ้นอยู่กับว่าทีมของตนจะมีผลการแข่งขันดีที่สุดหรือไม่นั่นเอง

แต่ในเทปวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จนถึงปัจจุบัน ผู้เข้าแข่งขันจะต้องเลือกแก๊งสามช่า 1 คน จาก 4 คน คือ หม่ำ, เท่ง, โหน่งและตุ๊กกี้ เมื่อผู้เข้าแข่งขันเลือกแก๊งสามช่าครบแล้ว สมาชิกแก๊งสามช่าคนใดที่ไม่ถูกเลือกจะต้องช่วยเล่นให้ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 3 ทีม (หมายความว่า แก๊งสามช่าคนที่ไม่ถูกเลือกนั้นจะต้องเล่นถึง 3 รอบ หรือเป็นตัวช่วยนั่นเอง)

ใครกันหนอ

เกมใครกันหนอนี้ เป็นเกมเดียวกันกับที่เคยเล่นในชิงร้อยชิงล้าน ชะช่ะช่า และเล่นอยู่จนถึง 15 ธันวาคม พ.ศ. 2552 โดยในยุคนี้จะมีคำถามแค่ข้อเดียวเท่านั้น (ก่อนหน้านี้จะมีคำถาม 2 ข้อ)

ชิงร้อยฯ โชว์/สามช่า พามาโชว์

เกมชิงร้อยฯ โชว์ เป็นการแสดงโชว์ของแปลกหรือสิ่งที่น่าสนใจในรายการ แต่ในบางสัปดาห์จะมีแขกรับเชิญ โดยอาจเป็นการทายแขกรับเชิญจากคำใบ้ของแก๊งสามช่า หรืออาจให้แขกรับเชิญท้าแก๊งสามช่าแข่งเกมต่างๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความสามารถของแขกรับเชิญคนนั้นๆ โดยคำถามในแต่ละสัปดาห์นั้นอาจมีตัวเลือกให้ตอบหรือไม่มีตัวเลือกให้ตอบก็ได้ โดยผู้ที่ตอบถูกจะได้ 1 คะแนน ส่วนผู้ที่ตอบผิดจะไม่ได้คะแนน

ขุดขื้นมาฮา

เกมขุดขึ้นมาฮา เป็นการตอบคำถามที่เกี่ยวกับเรื่องราวในอดีตของรายการ โดยจะเป็นการถามว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นเกี่ยวกับแก๊งสามช่าคนไหน หรือเกี่ยวกับสิ่งของอะไร ซึ่งเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรายการตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2539 - 2546 และล้วนแต่เป็นเรื่องราวที่สนุกสนานทั้งสิ้น ให้ผู้เข้าแข่งขันเขียนคำตอบบนลงกระดานและเปิดแผ่นป้ายเฉลยคำตอบ ถ้าตอบถูกรับ 1 คะแนน ตอบผิดจะไม่ได้คะแนน เกมนี้เริ่มใช้ในรายการตั้งแต่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 จนถึงวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

ท้าคนชนคลิป

เกมท้าคนชนคลิป เป็นเกมใหม่ที่เกิดขึ้นแทนที่เกมชิงร้อยฯ โชว์ โดยเป็นการนำคลิปความสามารถแปลกๆจากทั่วทุกมุมโลกมาให้ได้ชมกัน หลังจากนั้นจะเชิญผู้ที่มีความสามารถเช่นเดียวกับในคลิปที่เป็นคนไทยมาแสดงความสามารถ ซึ่งหลังจากนั้นจะมีการท้าเกิดขึ้น โดยการท้านั้นพิธีกรจะกำหนดกติกาสำหรับท้าผู้ที่เชิญมา และผู้ที่ถูกท้าจะต้องทำให้ได้ตามคำท้าของพิธีกร สำหรับผู้เข้าแข่งขันจะมีหน้าที่ทายว่าผู้ที่เชิญมาจะทำได้ตามคำท้าหรือไม่ ถ้าทายถูกจะได้รับ 1 คะแนน เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ถูกใจให้ร้อย

ถูกใจให้ร้อย ถือเป็นช่วงใหม่ของรายการซึ่งแทนที่ขุดขึ้นมาฮา โดยเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ชมทางบ้านมาแสดงความสามารถที่คิดว่าสามารถทำให้ผู้ชมถูกใจได้ โดยการตัดสินนั้น ผู้ชมจะมีปุ่มกดอยู่ในมือแล้ว หากพึงพอใจโชว์ที่แสดง ก็สามารถก็ปุ่มนั้นได้ โดยผลคะแนนที่ได้จะวัดเป็น 10 ระดับ โดยระดับสูงสุดจะเรียกว่าระดับ 100 หากสามารถทำให้ผู้ชมพึงพอใจและได้รับคะแนนในระดับ 7 ขึ้นไป ก็จะได้รับถ้วยรางวัล แต่ในรอบนี้ไม่มีคะแนนสะสมใดๆ เริ่มตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน - 25 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ว้าวก่อนนอน

ว้าวก่อนนอน ถือเป็นช่วงใหม่ของรายการอาจจะสลับช่วงถูกใจให้ร้อยบางสัปดาห์ โดยเป็นการแสดงทดลองวิทยาศาสตร์ของเท่ง เถิดเทิง ที่นำมาเสนอในบางสัปดาห์ จนพิธีกร ดารารับเชิญ และผู้ชมในห้องส่งจนต้องร้องเสียงดัง "ว้าว" แต่ในรอบนี้ไม่มีคะแนนสะสมใดๆ

แหล่งที่มา

WikiPedia: ชิงร้อยชิงล้าน ชะช่ะช่า //scholar.google.com/scholar?q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%... //www.google.com/search?&q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E... //www.google.com/search?as_eq=wikipedia&q=%22%E0%B... //www.google.com/search?q=%22%E0%B8%8A%E0%B8%B4%E0... //www.google.com/search?tbs=bks:1&q=%22%E0%B8%8A%E... http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=... http://www.workpoint.co.th https://www.youtube.com/watch?v=NFV2D0HgLnk https://web.archive.org/web/20000816211226/http://... https://www.jstor.org/action/doBasicSearch?Query=%...